เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)

เรื่องน่ารู้ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า for web บทความเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator)

เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) คือ หนึ่งอุปกรณ์ในระบบการส่งจ่ายที่มีความสำคัญที่สุดอีกระบบหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าสำรองในกรณีที่กระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าดับเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง

ข้อควรคำนึงในการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

  • สถานที่ติดตั้ง (Location) พิจารณาถึงทิดทางลมที่ไหลเวียนเข้าและออกจากห้อง ต้องห่างจากสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง สารเคมีสิ่งสกปรกต่างๆ และความชื้นสูง
  • การออกแบบห้อง (Room Layout) ปกติ ต้องมีพื้นที่รอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างน้อย 1.5-2 เมตร รอบเครื่องสำหรับการบำรุงรักษาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมๆ กับพื้นที่สำหรับสายไฟหลัก ท่อน้ำมัน ท่อดักลม รวมถึงท่อไอเสีย
  • การระบายอากาศ (Room Ventilation) ต้องมีการระบายอากาศที่ดี เพื่อระบายความร้อนสะสมในห้องและตัวเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยอากาศจะไหลเวียนจากด้านท้ายไปด้านหน้า ต้องมีช่องลมเข้าและ ช่องลมออกที่เหมาะสมกับขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  • การสร้างฐานติดตั้ง (Foundation) ต้องสามารถรับน้ำหนักของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ทั้งชุด รวมทั้งแรงปฏิกิริยาที่เกิดจากการสั่นของเครื่อง ควรยกให้สูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร จากพื้น แท่นรับควรจะใหญ่กว่าฐานรับของเครื่องอย่างน้อย ด้านละ 200-400 มิลลิเมตร
  • การติดตั้งท่อไอเสีย (Exhaust pipe) ท่อไอเสียควรจะสั้น เท่าที่สภาพของสถานที่ติดตั้งจะอำนวย และให้มีจำนวนข้องอให้น้อยที่สุดในกรณีต้องเดินยาวกว่า 10 เมตร จะต้องเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางท่อ โดยขึ้นอยู่กับความยาวและจำนวนข้องอที่ใช้

ข้อควรระวังในการใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

  • การใช้งาน ไม่ควรใช้งานชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเกินพิกัดที่ระบุไว้ในแผ่นป้าย (Name Plate) ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในลักษณะชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม อย่างไรก็ตามสำหรับการใช้งานต่อเนื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถรับโหลดเกินพิกัดได้ประมาณ 10% เป็นบางขณะ
  • แรงดันไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นส่วนซึ่งผลิตกำลังไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในขณะใช้งานไม่ควรมอบหมายให้ผู้ที่มีความรู้ไม่เพียงพอเป็นผู้ควบคุมดูแล และในกรณีที่มีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ควรตะหนักถึงแรงดันไฟฟ้าที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเนื่องจากไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าชอร์ต ควรตรวจสอบระบบสายไฟและสภาพของฉนวนหุ้มสายไฟอย่างสม่ำเสมอ
  • ไอเสียเครื่องยนต์ ไอเสียของเครื่องยนต์ควรจะถ่ายเทได้สะดวกในขณะใช้งานชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
  • ถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ควรเก็บไว้ในที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการเติมน้ำมันในขณะชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำงาน การอาร์คหรือสปาร์คของไฟฟ้าอาจทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงติดไฟได้
  • แบตเตอรี่ พึงระมัดระวังก๊าซที่เกิดจากการชาร์จ และดิสชาร์จของแบตเตอรี่ การตรวจดูระดับน้ำกลั่นในแต่ละเซลล์ การถอดสายขั้ว แบตเตอรี่ให้ถอดขั้วลบออกก่อนเสมอ และการใส่ขั้วแบตเตอรี่ให้ใส่ขั้วลบหลังสุด เพื่อหลีกเลี่ยงการอาร์คหรือลัดวงจรจากการพลั้งมือในขณะขันสกรู
  • เครื่องยนต์สตาร์ตอัตโนมัติ ในกรณีที่ชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีอุปกรณ์ออโตเมติค ทรานสเฟอร์สวิตช์ (Automatic Transfer Switch) เป็นส่วนประกอบเพื่อควบคุมการสตาร์ตเครื่องยนต์และจ่ายไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ให้พึงระมัดระวังการสตาร์ตเครื่องยนต์อัตโนมัติโดยไม่รู้ตัว เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าว ในการตรวจสอบหรือแก้ไขชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จึงควรปิดสวิตช์ชุดควบคุมดังกล่าวพร้อมกับปลดสายออกจากขั้วแบตเตอรี่ด้วย
  • การตรวจซ่อมในขณะเดินเครื่อง พึงระมัดระวังส่วนที่หมุนหรือทำงานด้วยความเร็วรอบสูงการพลาดพลั้งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะบางส่วนได้
  • การต่อสาย การต่อสายชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าควรกระทำเป็นลำดับขั้น คือดับเครื่องก่อนทำการต่อสาย ตรวจสอบความเรียบร้อยแล้วจึงเดินเครื่องใหม่ การต่อสายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีขั้วต่อสายหรือ ขั้วเสียบที่ปลอดภัย ควรปิดวงจรเบรกเกอร์ก่อนทำการต่อสายตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนจึงเปิดวงจรเบรคเกอร์เพื่อใช้งาน

Cr. http://sitem.co.th/