การทดสอบสมรรถนะของเครื่องกําเนิดไฟฟ้า (Load Test)
การทดสอบเครื่องกําเนิดไฟฟ้าจะต้องทําการทดสอบภายหลังการติดตั้งแล้วเสร็จสมบูรณ์ ณ สถานที่ติดตั้ง เพื่อให้ทราบสมรรถนะ (Performance) ที่แท้จริงของเครื่องกําเนิดไฟฟ้า การทดสอบสมรรถนะเครื่องกำเนิดไฟฟ้า สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ
1. การทดสอบสมรรถนะของเครื่องกําเนิดไฟฟ้า เพื่อส่งมอบงาน (On Site Acceptance Test)
หลังจากทำการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ประกอบต่างๆ สมบูรณ์และสามารถใช้งานได้ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องถูทำการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่า สามารถทำงานได้ตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านสมรรถนะในการจ่ายกระแสไฟฟ้า (Power Output) และฟังก์ชั่นการทำงาน ซึ่งการทดสอบจะต้องทำในขั้นตอนสุดท้ายของการส่งมอบงาน มีรายละเอียดและขั้นตอนดังนี้
- การทดสอบสมรรถนะเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Load Test) ให้ทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง รวมทั้งต้องบันทึกค่าต่างๆ เช่น ขนาดของโหลด ค่าแรงดันไฟฟ้า (Voltage) ความถี่ (Frequency) กระแสไฟฟ้า (Current) ค่าแรงดันน้ำมันหล่อลื่น (Oil Pressure) อุณหภูมิน้ำระบายความร้อน (Water Temperature) อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
- การทดสอบฟังก์ชั่นการทำงาน (Function Test) ให้ทำภายหลังการทดสอบสมรรถนะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตาม ข้อ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการทดสอบการใช้งานจริงเพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถทำงานได้จริงเมื่อไฟฟ้าหลักเสียหรือขัดข้อง และเมื่อไฟฟ้าหลักกลับสู่สภาวะปกติ
- ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองติดตั้งแบบแขวน (Paralleled) หลายๆ ชุด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองแต่ละชุดจะต้องทดสอบสมรรถนะแยกแต่ละชุดตามขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองชุดนั้นๆ
- การทดสอบแบบจ่ายโหลดครั้งเดียว (Single Step Load Test) ให้เริ่มทันทีหลังจากเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเพื่อระบายความร้อน โดยการสตาร์ทเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเมื่อเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีความเร็วรอบและแรงดันไฟฟ้าถึงค่าใช้งานให้จ่ายโหลด 60% ของพิกัดกำลัง (Nameplate KW) ให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Single Step Load) ทันที แล้วบันทึกค่าแรงดันไฟฟ้าและความถี่กระเพื่อม (voltage and Frequency Dip) และเวลาเข้าสู่สภาวะใช้งาน (Recovery Time) โดยให้เป็นไปตามที่ระบุในระดับสมรรถนะของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ได้ติดตั้ง
- ข้อมูลซึ่งกำหนดในหัวข้อ 1. จะต้องถูกบันทึกครั้งแรก และทุกๆ 15 นาที หลังจากนั้นจนครบกำหนด 2 ชั่วโมง
- ระบบป้องกันต่างๆ จะต้องถูกทดสอบตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
- การทดสอบประจำสัปดาห์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ จะต้องมีการตรวจสอบทุกสัปดาห์ และต้องทำการกระตุ้น (Exercise) โดยไม่จ่ายโหลดเป็นเวลา 10 นาที และจะต้องมีการจดบันทึกการตรวจเช็คค่าต่างๆ และการกระตุ้นด้วย
- การทดสอบสมรรถนะประจำเดือน เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะต้องทำการทดสอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งๆ 30 นาที
- การทดสอบสมรรถนะประจำปี ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่สามารถทำการทดสอบสมรรถนะประจำเดือนตามข้อ 2. ได้ ให้ทำการทดสอบสมรรถนะเดือนละ 1 ครั้ง โดยให้จ่ายโหลดเท่าที่จะจ่ายได้และให้ทำการทดสอบสมรรถนะอีกปีละ 1 ครั้ง โดยการทดสอบประจำสัปดาห์ ประจำเดือน และประจำปี ให้บันทึกค่าแรงดันน้ำมันหล่อลื่นอุณหภูมิน้ำระบายความร้อน แรงเคลื่อนไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า กำลังไฟฟ้า ความถี่ครั้งแรก และทุกๆ 15นาที ส่วนอัตราการประจุแบตเตอรี่ หรือแรงดันแบตเตอรี่ ให้บันทึกระยะแรกทุกๆ 5 นาที ของช่วงเวลา 15 นาที และต่อไปทุกๆ 15 นาที
- เครื่องกำเนิดไฟฟ้าซึ่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้โหลดระดับ 1 จะต้องทำการทดสอบสมรรถนพต่อเนื่องเป็นเวลาตามระดับชั้น (Class) ของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่กำหนดทุกๆ 36 เดือน กรณีที่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่า 4 ชั่วโมง ให้ทำการทดสอบสมรรถนะของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้น โดยการจ่ายโหลด
มาทำความรู้จักกับโหลดเทียม
โหลดเทียมหรือโหลดแบงค์ (Load bank) โดยทั่วไปจะเป็นชนิด Resistive AC Load Bank ซึ่งถูกออกแบบให้สามารถผลิตโหลดซึ่งมีค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์ เท่ากับ 1.0 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้เพาเวอร์แฟคเตอร์มีค่าเท่ากับ 0.8 และเครื่องต้นกำลังขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (prime mover) ก็ไม่สามารถจ่าย full kVA ที่เพาเวอร์แฟคเตอร์มีค่าเท่ากับ 1.0 ได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 500 kVA ที่เพาเวอร์แฟคเตอร์มีค่าเท่ากับ 0.8 จะสามารถจ่ายโหลดได้เต็มที่ 400 กิโลวัตต์ (KW) ให้กับ Pure Resistive Load ซึ่งมีค่าเพาเวอร์แฟคเตอร์เท่ากับ 1.0 เท่านั้น การทดสอบโหลด Resistive เป็นการทดสอบความสามารถของเครื่องต้นกำลังขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าว่าสามารถขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 500 kVA ที่เพาเวอร์แฟคเตอร์ 0.8 หรือ 400 กิโลวัตต์ (KW) ที่เพาเวอร์แฟคเตอร์ 1.0 ได้หรือไม่เท่านั้น
Cr. http://do2.new.hss.moph.go.th:8080/fileupload_doc/2022-03-17-7-22-4059909.pdf