พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียว สิ่งมหัศจรรย์จากธรรมชาติ
“พลังงานสะอาด” พลังงานสำคัญที่จะมาเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น และพร้อมจะขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หลายปีมานี้เรื่องของ “พลังงานสะอาด” เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจทั้งในภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงจากธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างมลภาวะจากกระบวนการผลิต จึงเริ่มมีการนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับพลังงานทางเลือกชนิดนี้กันว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง?
พลังงานสะอาด คืออะไร?
พลังงานสะอาด หรือ พลังงานสีเขียว (Green Energy) คือ พลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานชนิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต แปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และจัดการกากหรือของเสีย อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน และพลังงานจากธรรมชาติก็ยังสามารถนำมาใช้ได้ไม่มีวันหมด แตกต่างจากเชื้อเพลิงที่ได้จากฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบและถ่านหินที่มีทรัพยากรอย่างจำกัด ใช้แล้วอาจหมดไปได้ในวันหนึ่ง และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในระหว่างการเผาไหม้อีกด้วย
ทำไมต้องใช้พลังงานสะอาด?
สาเหตุที่ทำให้ทั่วโลก รวมถึงไทย ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด เนื่องจากว่าพลังงานสะอาดมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อย่างฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบกับระบบนิเวศ และยังเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้นในระยะยาว แม้ก่อนหน้านี้จะมีข้อจำกัดเรื่องต้นทุนที่สูง แต่ปัจจุบันหลายหน่วยงาน รวมถึงภาครัฐ ก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้ใช้พลังงานสะอาดในราคาที่ถูกลงและจับต้องได้ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และประชาชนทั่วไป
พลังงานสะอาดมีอะไรบ้าง?
แหล่งพลังงานสะอาดที่มาจากธรรมชาติต่างก็มีข้อดีและคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละชนิดจะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ด้านไหนได้บ้างมาดูกัน
พลังงานแสงอาทิตย์
พลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
1.) การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อน เช่น การผลิตน้ำร้อนและการอบแห้ง
2.) การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า โดยอาศัยอุปกรณ์เป็นตัวกลางที่เรียกว่า “เซลล์แสงอาทิตย์” หรือ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell) นั่นเอง
ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าสนใจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ได้คิดค้น “โซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเล” (Floating Solar on Sea) นวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย เป็นโครงการนำร่องในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล ขนาด 100 กิโลวัตต์ แล้วนำไปใช้ภายในสำนักงานของบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ก่อนจะนำมาเป็นต้นแบบการศึกษาและพัฒนาสู่รูปแบบทางธุรกิจต่อไป
โดยจุดที่น่าสนใจของโซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเลนี้ คือ การใช้เม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ “InnoPlus HD8200B” เป็นวัสดุหลักในการผลิตทุ่นลอยน้ำ มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน ขึ้นรูปง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์น้ำ และพืชในทะเล ลดการสะสมของเพรียงทะเล และเพิ่มสารป้องกันรังสียูวี จึงช่วยยืดอายุการใช้งานได้นานถึง 25 ปี ผลจากการติดตั้งโซลาร์ชนิดลอยน้ำทะเลนี้ พบว่าสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้กับ PTT Tank ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นองค์ความรู้ให้กับเยาวชน ผู้ที่สนใจ และชุมชน นำไปต่อยอดได้อีกด้วย
พลังงานลม
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “ลม” โดยอาศัย “กังหันลม” เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนพลังงานจลน์ หรือการเคลื่อนที่ของลมให้กลายเป็นพลังงานกล นำไปใช้สูบน้ำ บดเมล็ดพืช และผลิตไฟฟ้า ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความเร็วลมสม่ำเสมอ ซึ่งในประเทศไทยมีแค่บางพื้นที่และยังอยู่ในช่วงพัฒนาและสาธิตเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบ 0.82 ล้านลิตรต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 2,011 ตันต่อปี และโครงการสาธิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าประมาณ 3.4 ล้านหน่วยต่อปี เพื่อใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงแบบเทียบเท่าน้ำมันดิบประมาณ 290 ล้านตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000 ตันต่อปี
พลังงานน้ำ
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “น้ำ” โดยอาศัย “กังหันน้ำ” ในการเปลี่ยนพลังงานจลน์ (การไหลของน้ำ) ให้กลายเป็นพลังงานกล หลักการเดียวกับการผลิตพลังงานด้วยกังหันลม ก่อนจะนำไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า เริ่มจากทำการเก็บน้ำไว้ในเขื่อน ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำ ก่อนจะปล่อยกระแสน้ำจากที่สูงลงไปหมุนกังหันน้ำเพื่อผลิตเป็นไฟฟ้า ซึ่งปริมาณของพลังงานที่ได้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระดับน้ำ ปริมาณน้ำ และประสิทธิภาพของกังหันน้ำ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เขื่อนภูมิพล บริเวณเขาแก้ว จ.ตาก ที่มาพร้อมโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ มีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงที่สุดในประเทศไทย อยู่ที่ 779.2 เมกะวัตต์ และให้พลังงานไฟฟ้าปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
พลังงานชีวมวล
พลังงานสะอาดที่ได้มาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร หรือกากจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น เศษไม้ ฟางข้าว ชานอ้อย ซังข้าวโพด กะลามะพร้าว น้ำเสียจากโรงงาน หรือมูลสัตว์ต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น นำไปหมักเพื่อดูดก๊าซชีวภาพมาใช้ การเผาเพื่อเอาความร้อนเป็นกระแสไฟฟ้า และการใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือไอน้ำในโรงงาน เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ในพื้นที่ ต.แสงสว่าง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านมีปัญหามูลสัตว์เรี่ยราดในหมู่บ้าน จนได้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้ามาช่วยสนับสนุนให้ทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ด้วยการขุดหลุม ลงถุงก๊าซ แล้วหมั่นใส่มูลสัตว์และวัสดุเหลือใช้ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ชาวบ้านหลายครัวเรือนมีก๊าซใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยประหยัดเงินและประหยัดการเติมแก๊สได้มากเลยทีเดียว
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
พลังงานสะอาดที่ได้มาจาก “ความร้อนใต้ผิวโลก” ที่มักเห็นกันในรูปแบบของน้ำพุร้อน ไอน้ำร้อน และโคลนเดือด โดยอาศัย “กังหันไอน้ำ” เปลี่ยนความร้อนเป็นพลังงาน มีหลักการก็คือ ใช้แรงดันจากไอน้ำร้อนที่จะเคลื่อนตัวไปหมุนกังหันจนเกิดเป็นพลังงาน ก่อนนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ผลิตไฟฟ้า ด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าสาธิต ณ บ่อน้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เป็นการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพ มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยระบบ 2 วงจรโดยตรงแห่งแรกของไทยและอาเซียน มีขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,200,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
ก๊าซธรรมชาติ
แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นพลังงานจากซากฟอสซิล แต่เป็นเชื้อเพลิงที่ผ่านการคัดแยกสิ่งเจือปนและองค์ประกอบก่อนนำมาใช้ประโยชน์ ทำให้เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ น้ำหนักเบา ติดไฟยาก มีความปลอดภัย มีการเผาไหม้แบบสมบูรณ์ เป็นพลังงานสะอาด ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่น ๆ อย่างน้ำมันดิบหรือถ่านหิน อีกทั้งยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานทดแทนได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตโรงไฟฟ้าแทนถ่านหิน และใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์แทนน้ำมันเบนซินหรือดีเซล หรือที่เรียกว่า NGV มีประสิทธิภาพ ไร้เขม่า ควันดำ และสารพิษ แถมปริมาณไอเสียที่ออกมาก็ยังน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นอีกด้วย
นับเป็นสัญญาณดีที่หลายฝ่ายเริ่มสนใจนำพลังงานสะอาดมาใช้ในด้านต่างๆ มากขึ้น เชื่อแน่ว่าจากจุดเริ่มต้นนี้ หากได้รับการพัฒนาและต่อยอด ประเทศไทยจะมีพลังงานสะอาดใช้ในอนาคตอย่างแพร่หลาย ที่สำคัญยังช่วยลดมลพิษลงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
Cr. https://hilight.kapook.com/view/208539